Google

03/06/2008

ระบบจุดระเบิด


จุดระเบิด
รายละเอียดระบบจุดระเบิด
เครื่องยนต์เผาไหม้ภายในให้กำเนิดกำลังงาน โดยการเผาไหม้ส่วนผสมของอากาศและเชื้อเพลิงภายในกระบอกสูบ ในเครื่องยนต์แก๊สโซลีน จะต้องใช้ประกายไฟฟ้า ในการจุดประกายไฟให้ส่วนผสมของอากาศและเชื้อเพลิง ภายหลังที่ถูกอัดตัวด้วยลูกสูบภายในกระบอกสูบให้เกิดการลุกไหม้ขึ้น ส่วนในเครื่องยนต์ดีเซลอากาศภายในกระบอกสูบจะถูกอัดตัวให้มีความดันสูงก่อน ทำให้เกิดความร้อนขึ้นเมื่อเชื้อเพลิงถูกฉีดเข้าไปในกระบอกสูบ จะเกิดการจุดระเบิดด้วยตัวเอง
เครื่องยนต์แก๊สโซลีนเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานความร้อนให้เป็นพลังงานกล พลังงานความร้อน ที่ได้จะมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง แต่เนื่องจากเครื่องยนต์แกสโซลีนเป็นเครื่องยนต์ที่มีอัตราการอัดตัว (Compression Ratio) ต่ำ ความร้อนที่เกิดขึ้นจากการอัดตัวจึงไม่สูงพอที่จะจุดเชื้อเพลิงให้เผาไหม้เองได้จึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ทางไฟฟ้ามาจุดประกายในห้องเผาไหม้เพื่อให้เกิดการจุดระเบิด
กระบวนการเผาไหม้เริ่มขึ้น โดยการที่มีประกายไฟแรงดันสูงเกิดขึ้นที่หัวเทียน ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องใช้วิธีทำให้เกิดไฟฟ้าแรงดันสูง เพื่อส่งไปยังหัวเทียน ซึ่งมี 2 วิธี คือ
- การจุดระเบิดด้วยแม็กนีโต
- การจุดระเบิดด้วยแบตเตอรี่
โดยที่แม็กนีโตสามารถให้กำเนิดเส้นแรงแม่เหล็กไฟฟ้าที่ต้องการและก่อให้เกิดไฟแรงดันสูงได้ จึงไม่
จำเป็นต้องมีแบตเตอรี่ในระบบจุดระเบิดด้วยแม็กนีโต ด้วยเหตุนี้ระบบจุดระเบิดด้วยแม็กนีโต จึงถูกใช้อย่าง กว้างขวางในเครื่องยนต์แก๊สโซลีนขนาดเล็ก เช่น รถจักรยานยนต์ เครื่องยนต์เล็ก และเครื่องตัดหญ้า เป็นต้น
ระบบจุดระเบิดด้วยแบตเตอรี่ จะเพิ่มแรงดันไฟฟ้าแบตเตอรี่ ด้วยคอยล์จุดระเบิดและจะจ่ายไฟฟ้าแรงดันสูงนี้ไปยังหัวเทียน เพื่อการเกิดประกายไฟ เครื่องยนต์แก๊สโซลีนของรถยนต์ใช้ระบบจุดระเบิดด้วยแบตเตอรี่

รูปแสดงระบบจุดระเบิดแบบกแม็กนีโต

สิ่งจำเป็นของระบบจุดระเบิด
ส่วนประกอบ 3 ประการดังต่อไปนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการทำงานของเครื่องยนต์
- กำลังอัดสูง
- ประกายไฟสูง
- ส่วนผสมอากาศ – เชื้อเพลิงดี
หน้าที่พื้นฐานของระบบจุดระเบิด
หน้าที่พื้นฐานของระบบจุดระเบิดคือ การให้กำเนิดประกายไฟ ซึ่งสามารถจุดส่วนผสมของอากาศ-
เชื้อเพลิง ภายในกระบอกสูบได้ ดังนั้นจึงมีสภาวะดังต่อไปนี้
1. มีประกายไฟแรง
เมื่อส่วนผสมอากาศ – เชื้อเพลิงถูกอัดตัวภายในกระบอกสูบ จะทำให้ประกายไฟกระโดดข้ามอากาศได้ลำบาก (เป็นเพราะอากาศมีความต้านทานทางไฟฟ้าอยู่และความต้านทานจะเพิ่มขึ้นตามอากาศที่ถูกอัดตัว)
2. จังหวะจุดระเบิดที่ได้ผลที่สุด
เพื่อให้การเผาไหม้ส่วนผสมอากาศ – เชื้อเพลิง ได้ผลดีที่สุด
3. มีอายุการใช้งานได้ทนทานเพียงพอ
ถ้าระบบจุดระเบิดบกพร่องเครื่องยนต์จะไม่ทำงาน ดังนั้นระบบจุดระเบิดจะต้องมีความทนทานเพียงพอ เพื่อทนต่อการสั่นสะเทือนและความร้อน ซึ่งเกิดจากเครื่องยนต์

No comments: